คำแนะนำ

Gadgetรูปภาพ

Gadgetรูปภาพ
การเพิ่ม Gadget รูปภาพ

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553


วิวัฒนาการกฎหมายไทย
พระราชกำหนดบทพระอัยการของไทย ตามคำไทยแต่เดิม "กฎหมาย" หมายแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดให้กดไว้หมายไว้เพื่อใช้บังคับเป็นการคงทนถาวร จะเห็นได้ในพงศาวดารเหนือ (ฉบับของพระวิเชียรปรีชา) ตอนที่พระยาพสุจราชแห่งราชวงศ์พระร่วงได้จัดการแต่งบ้านแต่งเมืองออกรับกองทัพพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีความว่า "แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกหน้าด่าน แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองกัมโพชนคร ให้กำหนดกฎหมายสืบ ๆ กันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมือง... ฯลฯ" ในภาษาไทยแต่เดิม กฎหมายจึงหมายถึงคำสั่งที่ได้กดไว้หมายไว้ให้เป็นที่แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำกริยา ซึ่งประกอบขึ้นจากกริยา "กฎ" มีความหมายว่า "จดบันทึก, จดไว้เป็นหลักฐาน, ตรา" อันเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรว่า "กต่" มีความหมายว่า "จด" + นาม "หมาย" ซึ่งแปลว่า "หนังสือ"
แต่โบราณกาล เพื่อให้คำสั่งอันเป็นกฎหมายเป็นของขลังและเป็นที่เคารพเชื่อฟัง จึงมักมีการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ว่าเป็นที่มาของกฎหมายหรือเป็นที่มาของอำนาจที่ใช้ออกกฎหมาย เช่น ของอังกฤษ ในตอนต้นของกฎหมายมักเขียนว่า "อาศัยพระราชอำนาจอันทรงได้รับประทานจากเทพยุดาฟ้าดิน สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้ดังต่อไปนี้" ถึงแม้ว่าชั้นเดิม กษัตริย์จะชื่อว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่การจะสั่งให้เป็นกฎหมายนั้นก็ต้องอาศัยอ้างเหตุอ้างผลเพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่เป็นธรรม เหตุผลที่ยกขึ้นส่วนมากคือจารีตประเพณี เช่น กฎหมายไทยที่ว่า "อันว่าสาขคดีทั้งหลายดั่งพรรณนามานี้ อันบูราณราชกษัตริย์มีบุญญาภินิหารสมภารบารมีเป็นอธิบดีประชากร ผจญข้าศึกเสร็จแล้ว แลเป็นอิสรภาพในบวรเศวตรฉัตร ประกอบด้วยศีลสัจวัตรปฏิบัติเป็นอันดี...ทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็นพระราชกำหนดบทพระอัยการไว้โดยมาตราเป็นอันมาก...มาตราบเท้าทุกวันนี้"
สำหรับประเทศไทยนั้นเดิมทีมีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเรียกเป็นการทั่วไปว่า "พระอัยการ" เป็นกฎหมายแม่บทเสมอรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน พระอัยการนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง" ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระขึ้นใหม่เพราะของเก่าล้วนสูญหายไปเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตกก็มี วิปริตผิดเพี้ยนไปก็มี เป็นต้น แต่พระอัยการนั้นพึงเข้าใจว่าเป็นกฎหมายก่อนกฎหมายตราสามดวง แต่มีวิวัฒนาการไปเป็นกฎหมายตราสามดวง

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า”
ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักการและกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน ฯลฯ บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้ เศรษฐกิจของ 3 ชาติ จะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ และทั้งที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ " พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้
"….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…"


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม "3 ห่วง 2 เงื่อนไข" ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้" และ "คุณธรรม"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลอดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ และการอยู่รวมกันของทุกคนในสังคม
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย ต้องประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ และ ต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อที่จะยืนหยัดในการพึ่งพาผู้อื่น และ พัฒนานโยบายที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้
เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชมชุนให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย 2 อย่างคือ
การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่าง ปริมาณผลผลิตและการบริโภค
ชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง
ผลที่เกิดขึ้นคือ
1.เศรษฐกิจพอเพียงสามารถที่จะคงไว้ซึ่งขนาดของประชากรที่ได้สัดส่วน
2.ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
3.รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก